วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

การประเมินผลการเรียนรู้


                สุรางค์ โค้วตระกูล (2541: 416-418) ได้กล่าวถึงการประเมินผลไว้ว่าการประเมินผล (Evaluation)เป็นกระบวนการที่มีความจำเป็นสำหรับโปรแกรมทุกอย่างของโรงเรียนตั้งแต่หลักสูตรการเรียนการสอน โปรแกรมอาหารกลางวันของนักเรียนควรจะได้รับการประเมินว่าได้ผลคุ้มอย่างไร การประเมินผลอาจจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1) การประเมินผลบั้นปลายตอนจบหลักสูตร (Summative Evaluation)
การประเมินผลประเภทนี้มักจะประเมินเมื่อผู้เรียนได้เรียนจบหลักสูตรของวิชาหนึ่งๆแล้วในโรงเรียนอาจจะเป็นตอนกลางปีหรือปลายปีก็ได้ นอกจากนี้อาจจะใช้การประเมินผลแบบ Summative เมื่อมีการอบรมพิเศษ เพื่อแสดงว่าผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ตามหลักสูตร ถ้าหากผู้เรียนผ่านการสอบการประเมินผลแบบ Summative อาจจะทำโดยผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาถ้าหากที่จะประเมินผลของการศึกษาทุกแง่ทุกมุม เช่น ทัศนคติของนักเรียน หนังสือ ตำราที่ทางโรงเรียนใช้ เวลาที่นักเรียนใช้ในการเรียนการสอนแต่ละวิชาความรู้ที่นักเรียนรู้แล้วนำไปประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้หรือไม่
2) การประเมินผลเพื่อการปรับปรุงแก้ไข (Formative Evaluation)
Scriven (1967) เป็นผู้ริเริ่มแนะนำให้ผู้ที่มีส่วนสร้างหลักสูตรที่ใช้ในโรงเรียนใช้วิธีประเมิลผล เพื่อการปรับปรุงแก้ไข (Formative Evaluation) ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อจะได้ทราบว่าหลักสูตรใช้ได้ผลดีหรือไม่ดีอย่างไร โดยประเมินหลักสูตรเป็นตอนๆ ถ้าพบข้อบกพร่องก็จะได้ดัดแปลงแก้ไขทันท่วงที ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างหลักสูตร Scriven กล่าวว่าวิธีการสร้างหลักสูตรคณะกรรมการการสร้าง หลักสูตรมักจะทำงานสร้างหลักสูตรตั้งแต่ต้นจนจบแล้วนำออกไปใช้ในโรงเรียนโดยไม่ได้ทำการทดลองเป็นขั้นๆ ถ้าหากผู้ใช้เสนอแนะให้แก้ไขผู้สร้างหลักสูตรก็มักจะพยายามที่จะต่อต้านไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะคิดว่าได้ทุ่มเทกำลังงานไปมากแล้ว ดังนั้นถ้าหากผู้สร้างหลักสูตรจะใช้การประเมินผลแบบ Formative ประเมินผลเป็นตอนๆ ผู้สร้างอาจจะใช้ข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรให้ดีขึ้น
Bloom, et. Al., (1971) ได้เสนอแนะให้ครูใช้ Formative Evaluation ในโรงเรียนเพื่อช่วยนักเรียนให้เรียนรู้ แลได้กล่าวถึงประโยชน์ของFormative Evaluation ไว้ดังต่อไปนี้
1.ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนทราบว่าตนเองสามารถที่จะเรียนรู้จนรอบรู้ (Master) หน่วยการเรียนแต่ละหน่วยหรือไม่ โดยใช้วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ก็จะเป็นแรงเสริมให้นักเรียนมีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ต่อไป และในกรณีที่นักเรียนทำไม่ได้ครูก็จะได้ช่วยนักเรียนได้ทันท่วงที ทำให้นักเรียนซาบซึ้งในความเอาใจใส่ของครู ทำให้นักเรียนเอาใส่ในบทเรียนมากขึ้น และพยายามเรียนรู้สิ่งที่ทำไม่ได้จนรอบรู้
2.ช่วยครูในการสอนนักเรียน เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียนแต่ละคน ครูอาจจะแบ่งหน่วยของการเรียนแต่ละหน่วยออกเป็นส่วนย่อย ตามลำดับความยากง่าย เป็นต้นว่าหน่วยเรียนเกี่ยวกับการเรียนเลขเศษส่วน ครูอาจจะแบ่งหน่วยเรียนออกเป็น 10 ขั้น ตามลำดับความยากง่าย ดูว่านักเรียนแต่ละคนอยู่ระดับใด ตั้งต้นจากการบวก ลบ คูณ หาร เลขจำนวนเต็ม จนถึงการใช้เศษส่วน ความหมายของเศษส่วน การบวก ลบ คูณ หาร เศษส่วนเป็นต้น ถ้านักเรียน บวก ลบ คูณ หาร เลขจำนวนเต็มไม่ได้ก็ยากที่จะเรียนเลข บวก ลบ คูณ หาร เศษส่วนได้ การวิจัยเกี่ยวกับนักเรียนที่ไม่มีความถนัดทางเลขพบว่า ถ้าครูพยายามช่วยโดยการแบ่งหน่วยเรียนเป็นส่วนย่อยและใช้ Formative Evaluation จะสามารถช่วยนักเรียนในการเรียนเลขได้ เพราะเมื่อนักเรียนสามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์ของหน่วยเรียนขั้นง่ายแล้วก็จะสามารถที่จะทำขั้นต่อไปโดยไม่ยากนัก
3.ช่วยครูวิเคราะห์ว่าจุดอ่อนของนักเรียนอยู่ที่ไหน หรือปัญหาของนักเรียนที่ทำไม่ได้คืออะไร และบอกให้นักเรียนแต่ละคนทราบปัญหาในการเรียนแต่ละหน่วย และวิเคราะห์ต่อไปว่า ทำไมนักเรียนถึงมีปัญหาทำไม่ได้ บางครั้งปัญหาก็ง่ายที่จะปรับปรุงแก้ไข เช่น การเลินเล่อ อ่านโจทย์ หรือคำถามไม่ละเอียด หรือตีความหมายผิด หรือบางครั้งอาจจะเป็นเพราะความรู้พื้นฐานที่จำเป็นของนักเรียนไม่มี ไม่ว่าปัญหาของนักเรียนจะเป็นประเภทใด ถ้าทราบก็จะได้แก้ไขทันท่วงที
4.ครูอาจจะใช้ Formative Evaluation ช่วยปรับปรุงการสอนของครู เป็นต้นว่า ถ้าหากนักเรียนทั้งห้องทำข้อหนึ่งข้อใดผิดก็แสดงว่าการสอนหรือการอธิบายของครูอาจจะไม่แจ่มแจ้ง หรือทำให้นักเรียนเข้าใจผิด ถ้าหากนักเรียนมากกว่าครึ่งห้องไม่สามารถทำได้ ก็แสดงว่าครูควรจะหาวิธีสอนหรือวิธีอธิบายหน่วยเรียนใหม่ หรือใช้ตัวอย่างหรืออุปกรณ์การสอนที่จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างรอบรู้คือ สามารถทำได้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
5.Formative Evaluation ช่วยให้ทั้งครูและนักเรียนตั้งความคาดหวังสำหรับความสัมฤทธิผลของการสอบไล่ปลายปีได้ ถ้านักเรียนทราบอยู่ตลอดเวลาว่าตนทำได้ จากผลของ Formative Evaluation ก็จะตั้งความคาดหวังหรือระดับความทะเยอทะยานในการสอบไล่ไว้สูง และคิดว่าตนคงจะทำได้เป็นการช่วยให้นักเรียนมีแรงจูงใจที่จะตั้งใจเรียนให้ดี สำหรับนักเรียนที่ทำไม่ได้ก็มีโอกาสแก้ตัว พยายามแก้ไขจุดอ่อนของตน สามารถเรียนรู้จนรอบรู้ หน่วยเรียนแต่ละหน่วยได้ทำให้มีความมั่นใจในเวลาสอบไล่
สรุปแล้วในการเรียนการสอน ถ้าหากครูจะใช้ Formative Evaluation ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนสามารถเรียนรู้จนรอบรู้ ทุกหน่วยเรียนก็จะเป็นการช่วยนักเรียนในการสอบไล่ตอนจบหลักสูตรทำให้นักเรียนมีความมั่นใจในตนเอง และไม่มีความกระวนกระวายใจมากในขณะที่สอบ ข้อสำคัญที่สุดก็คือครูไม่ควรจะให้คะแนนเวลาที่ใช้ Formative Evaluation และควรจะเน้นถึงประโยชน์ของ Formative Evaluation ให้นักเรียนทราบ


               เอกศักดิ์ บุตรลับ (2537 : 389 – 395) ได้รวบรวมเกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ดังนี้
การประเมินผล (Evaluation)
กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (2522 : 1) ให้ความหมายไว้ว่า การประเมินผล หมายถึงกระบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดว่า เป็นที่ต้องประสงค์หรือมีค่านิยมถูกต้องหรือไม่มากน้อยเพียงใด การประเมินผลจำเป็นต้องมีเป้าหมายหรือเกณฑ์ไว้ก่อนแล้ว จึงนำข้อมูลที่ได้จากการวัดนั้นมาประเมินในทิศทางตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด
บุญเชิด ภิญโญอนันตพงษ์ (2521 :6) กล่าวว่า การประเมินผลเป็นกระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผล และวินิจฉัย ตัดสิน สรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดอย่างมีหลักเกณฑ์
เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ และอเนกกุล กรีแสง (2517 : 7) ให้ความหมายการประเมินผลเป็นการใช้ วิจารณญาณตัดสินคุณค่า โดยอาศัยการวัดผลเป็นเครื่องช่วย
สรุปได้ว่า การประเมินผลเป็นขบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดผลว่า สิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน สอบได้หรือสอบตก เป็นต้น
จุดประสงค์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา
ในการวัดผลและประเมินผลการศึกษานั้น มีจุดประสงค์ที่สำคัญดังนี้ (ลำพอง บุญช่วย ม.ป.ป. : 214-215)
1. เพื่อการคัดเลือก (Selecion) การพิจารณารับนักเรียนเข้าเรียน ต้องอาศัยการวัดผลและประเมินผลกรรมเพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด
2. เพื่อจำแนกบุคคล (Classification) การจำแนกบุคคลออกเป็นพวกเก่งอ่อน สอบได้ สอบตก หรือการให้เกรดเป็น A B C D E ก็ต้องอาศัยการวัดผลประเมินผลทั้งสิ้น
3. เพื่อวินิจฉัย (Diagnosis) การวัดผลและประเมินผลจะช่วยให้ครูสามารถวินิจฉัยได้ว่า เด็กคนใดเก่ง อ่อนด้านใด ซึ่งทำให้มองเห็นวิธีแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆได้
4. เพื่อประเมินความก้าวหน้า (Assessment) การที่จะทราบได้ว่าผู้เรียนมีความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมไปจากเดิมหรือไม่ เพียงใดนั้น จำเป็นต้องอาศัยการวัดผลประเมินผลเป็นเครื่องชี้ โดยมีการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน แล้วนำมาเปรียบเทียบกันดู ก็จะทำให้ทราบความก้าวหน้าของผู้เรียนได้
5. เพื่อทำนาย (Prediction) การวัดผลและประเมินผลช่วยให้ได้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับผู้เรียน ซึ่งสามารถนำมาประกอบในการพิจารราว่า นักเรียนคนใดควรเรียนอะไร ได้ดีในอนาคต ซึ่งจำเป็นสำหรับการแนะแนวเป็นอย่างยิ่ง
6. เพื่อจูงใจในการเรียนรู้ (Motivating Learning) การวัดผลและประเมินผลเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในการเรียน เกิดความพยายาม โดยเฉพาะเมื่อมีการทดสอบแล้ว ผู้เรียนได้ทราบผลการสอบของตนย่อมทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียน
7. เพื่อประเมินวิธีการสอนของครู (Evaluation of Treatment) การวัดผลและประเมินผลที่ดีจะต้องวัดผลทั้งตัวผู้เรียนและตัวครู ทั้งนี้เพราะการที่ผู้เรียนไม่ประสบความสำเร็จ อาจเกิดจากวิธีการสอนของครูที่ใช้ไม่ดี วัสดุอุปกรณ์ไม่เหมาะสม ดังนั้นการวัดผลและประเมินผลวิธีการสอนของครูจึงมีความจำเป็น
8. เพื่อรักษามาตรฐาน (Maintaining Standard) ในการผลิตกำลังคนของสถาบันต่างๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพ วิธีการอันหนึ่งที่จะใช้ในการรักษามาตรฐานก็ได้แก่ การวัดผลและประเมินผลนั่นเอง
ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน
การวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน เป็นกระบวนการที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอน เพราะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ คือ (กรมสามัญศึกษา 2522 :8)
1. การประเมินผลช่วยการตัดสินใจในด้านการเรียนการสอน ผลที่ได้จากกระบวนการวัดผลและประเมินผล จะเป็นข้อมูลย้อนกลับที่นำมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน
2. การประเมินผลช่วยตัดสินใจในด้านการแนะแนว ปกตินักเรียนมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาต่อ การเลือกอาชีพ และปัญหาส่วนตัวอยู่เสมอ ซึ่งการวัดผลจะช่วยในเรื่องนี้ได้ ด้วยการใช้แบบทดสอบชนิดต่างๆ
3. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการบริหาร การประเมินผลการเรียนการสอนจะช่วยให้ผู้บริหารทราบว่า ควรจะแก้ไขปรับปรุงกลไกการบริหารงานของสถานศึกษาอย่างไร
4. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการวิจัย การวิจัยในด้านการเรียนการสอน การแนะแนวและการบริหาร ย่อมต้องอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากการวัดผลและประเมินผล หรือเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในงานวิจัยได้ด้วย

ประเภทของการประเมินผล
การจำแนกประเภทของการประเมินผลนั้น จะจำแนกออกเป็นกี่ประเภทขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง โดยทั่วๆ ไปแล้วมีเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภทของการประเมินผลอยู่ 2 เกณฑ์
1. จุดประสงค์ของการประเมินผล แบ่งออกได้เป็น
  1.1 การประเมินผล เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน (Formative Evaluation)
  1.2 การประเมิล เพื่อตัดสินผลการเรียน (Summative Evaluation)
2. จำแนกตามระบบการวัดผล แบ่งออกได้เป็น
  2.1 การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม (Norm-referenced Evaluation)
  2.2 การประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ (Criterion-referenced Evaluation)

        http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/joemsiit/joemsiit-web1/ChildCent/Child_Center4.htm ได้รวบรวมการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ว่า ได้รวบรวมและกล่าวถึงการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ว่า การประเมินผลเป็นกระบวนการสำคัญที่มีส่วนเสริมสร้างความสำเร็จให้กับผู้เรียน และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการเรียนการสอน การสอนและการประเมินผลจำเป็นต้องมีลักษณะที่สอดคล้องกัน แต่ในการจัดการศึกษาที่ผ่านมากลับมีเหตุการณ์ที่ทำให้ดูเหมือนการสอนกับการประเมินผลเป็นคนละส่วน แยกจากกัน การประเมินผลน่าจะเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ครูได้ข้อมูลที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียนแต่กลับกลายเป็นเครื่องมือตัดสินหรือตีตราความโง่ ความฉลาด สร้างความกดดันและเป็นทุกข์ให้กับผู้เรียน ความสำเร็จหรือล้มเหลวของการเรียนรู้ถูกตัดสินในครั้งสุดท้ายของกระบวนการเรียนการสอน โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลงานความสำเร็จหรือพัฒนาการที่มีขึ้นในระหว่างกระบวนการเรียนรู้ และนอกเหนือจากนั้น กระบวนการที่ใช้วัดและประเมินผลการเรียนรู้ในบางครั้งก็ไม่ได้กระทำอย่างสอดคล้องกับพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ต้องการวัดจริง เพราะครูมักจะเคยชินกับการใช้เครื่องมือวัดเพียงอย่างเดียว คือ การใช้แบบทดสอบ ซึ่งมีข้อจำกัดในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ทางด้านเจตพิสัย และทักษะพิสัย  ดังนั้น เมื่อมีการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญแล้วก็มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกระบวนการวัดและประเมินผลใหม่ด้วยให้สอดคล้องกัน ซึ่งผู้รู้ในวงการศึกษาได้ยอมรับกันว่า แนวคิดในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่เหมาะสม คือ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามสภาพจริง ดังจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป
         จากที่กล่าวมาข้างต้นพอสรุปการประเมินผลการเรียนรู้ได้ว่า เป็นกระบวนการที่มีความจำเป็นสำหรับโปรแกรมทุกอย่างของโรงเรียนตั้งแต่หลักสูตรการเรียนการสอนและกระบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดว่า เป็นที่ต้องประสงค์หรือมีค่านิยมถูกต้องหรือไม่มากน้อยเพียงใด การประเมินผลจำเป็นต้องมีเป้าหมายหรือเกณฑ์ไว้ก่อนแล้ว จึงนำข้อมูลที่ได้จากการวัดนั้นมาประเมินในทิศทางตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด การประเมินผลอาจจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 1) การประเมินผลบั้นปลายตอนจบหลักสูตร (Summative Evaluation) 2) การประเมินผลเพื่อการปรับปรุงแก้ไข (Formative Evaluation) มีจุดประสงค์ที่สำคัญดังนี้ 1. เพื่อการคัดเลือก (Selecion)  2. เพื่อจำแนกบุคคล (Classification) 3. เพื่อวินิจฉัย (Diagnosis) 4. เพื่อประเมินความก้าวหน้า (Assessment) 5. เพื่อทำนาย (Prediction) 6. เพื่อจูงใจในการเรียนรู้ (Motivating Learning) 7. เพื่อประเมินวิธีการสอนของครู (Evaluation of Treatment) 8. เพื่อรักษามาตรฐาน (Maintaining Standard)  ประเภทของการประเมินผลประกอบด้วย 1. จุดประสงค์ของการประเมินผล แบ่งออกได้เป็น 2. จำแนกตามระบบการวัดผล แบ่งออกได้เป็น


ที่มา

สุรางค์ โค้วตระกุล. (2541). จิตวิทยาการศึกษา. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ:
           โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เอกศักดิ์ บุตรลับ. (2537). ครูและการสอน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). เพชรบุรี :
           สถาบันราชภัฎเพชรบุรี.
http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/joemsiit/joemsiit-web1/ChildCent/Child_Center4.htm.การวัดและประเมินผลที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. เข้าถึงเมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2558.

การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

          http://eduweb.kpru.ac.th/wbi/documents/pdf/Child_Center.pdf ได้รวบรวมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไว้ดังนี้
ความหมายของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือแนวการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ใหม่และสิ่งประดิษฐ์ใหม่โดยการใช้กระบวนการทางปัญญา(กระบวนการคิด) กระบวนการทางสังคม (กระบวนการกลุ่ม) และให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์และมีส่วนร่วมในการเรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ โดยผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้อานวยความสะดวกจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียน การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญต้องจัดให้สอดคล้องกับความสนใจ ความสามารถและความถนัดเน้นการบูรณาการความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ ใช้หลากหลายวิธีการสอนหลากหลายแหล่งความรู้สามารถพัฒนาปัญญาอย่างหลากหลายคือ พหุปัญญา รวมทั้งเน้นการวัดผลอย่างหลากหลายวิธี
หลักการพื้นฐานของแนวคิดที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเกิดขึ้นจากพื้นฐานความเชื่อที่ว่า การจัดการศึกษามีเป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การจัดการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาตนเองสูงสุด ตามกำลังหรือศักยภาพของแต่ละคน แต่เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านความต้องการ ความสนใจ ความถนัดและยังมีทักษะพื้นฐานอันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการเรียนรู้ อันได้แก่ความสามารถในการฟัง พูด อ่าน เขียน ความสามารถทางสมอง ระดับสติปัญญา และการแสดงผลของการเรียนรู้ออกมาในลักษณะที่ต่างกัน จึงควรมีการจัดการที่เหมาะสมในลักษณะที่แตกต่างกัน ตามเหตุปัจจัยของผู้เรียนแต่ละคน และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกลไกของการจัดการนี้คือ ผู้สอน แต่จากข้อมูลอันเป็นปัญหาวิกฤตทางการศึกษาและวิกฤตของผู้เรียนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ผู้สอนยังแสดงบทบาทและทำหน้าที่ของตนเองไม่เหมาะสม จึงต้องทบทวนทาความเข้าใจ ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการศึกษาและวิกฤตของผู้เรียนต่อไป การทบทวนบทบาทของผู้สอน ควรเริ่มจากการทบทวนและปรับแต่งความคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการเรียน โดยต้องถือว่าแก่นแท้ของการเรียนคือการเรียนรู้ของผู้เรียน ต้องเปลี่ยนจากการยึดวิชาเป็นตัวตั้ง มาเป็นยึดมนุษย์หรือผู้เรียนเป็นตัวตั้ง หรือที่เรียกว่า ผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้สอนต้องคำนึงถึงหลักความแตกต่าง
ระหว่างบุคคลเป็นสำคัญ ถ้าจะเปรียบการทำงานของอาจารย์ (ผู้สอน) กับแพทย์คงไม่ต่างกันมากนัก แพทย์มีหน้าที่บำบัดรักษาอาการป่วยไข้ของผู้ป่วยด้วยการวิเคราะห์ วินิจฉัยอาการของผู้ป่วยแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน แล้วจัดการบำบัดด้วยการใช้ยาหรือการปฏิบัติอื่นๆ ที่แตกต่างกันวิธีการรักษาแบบหนึ่งแบบใดคงจะใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยทุกคนเหมือนๆ กันไม่ได้ นอกจากจะมีอาการป่วยแบบเดียวกัน ในทำนองเดียวกันผู้สอน ก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจและศึกษาให้รู้ข้อมูล อันเป็นความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน และหาวิธีสอนที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาผู้เรียนแต่ละคนนั้นให้บรรลุถึงศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่ และจากข้อมูลที่เป็นวิกฤตทางการศึกษา และวิกฤตของผู้เรียนอีกประการหนึ่ง คือ การจัดการศึกษาที่ไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปฏิบัติในชีวิตจริง ทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ผู้สอนจึงต้องหันมาทบทวนบทบาทและหน้าที่ที่จะต้องแก้ไข โดยต้องตระหนักว่า คุณค่าของการเรียนรู้คือการได้นำสิ่งที่เรียนรู้มานั้นไปปฏิบัติให้เกิดผลด้วย ดังนั้นหลักการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงมีสาระที่สำคัญ 2 ประการคือ การจัดการโดยคำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียนและ การส่งเสริมให้ผู้เรียนได้นำเอาสิ่งที่เรียนรู้ไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิต เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่ศักยภาพสูงสุดที่แต่ละคนจะมีและเป็นได้การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หรือที่รู้จักในชื่อเดิมว่าการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student Centered หรือChild Centered) เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่รู้จักกันมานานในวงการศึกษาไทยแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติ รวมกับความเคยชินที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยยึดครูเป็นศูนย์กลาง (Teacher Centered)มาตลอด เมื่อผู้สอนเคยชินกับการจัดการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ที่เคยรู้จัก จึงทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญเท่าที่ควร แต่ในยุคของการปฏิรูปการศึกษานี้ได้มีการกำหนดเป็นกฎหมายแล้วว่า ผู้สอนทุกคนจะต้องใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญได้ จึงเป็นความจาเป็นที่ผู้สอนทุกคนจะต้องให้ความสนใจกับรายละเอียดในส่วนนี้ โดยการศึกษาทาความเข้าใจ และหาแนวทางมาใช้ในการปฏิบัติงานของตนให้ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนจึงเป็นการจัดการบรรยากาศ จัดกิจกรรม จัดสื่อจัดสถานการณ์ ฯลฯ ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพผู้สอนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องรู้จักผู้เรียนให้ครอบคลุมอย่างรอบด้าน และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปเป็นพื้นฐานการออกแบบหรือวางแผนการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับผู้เรียน สำหรับในการจัดกิจกรรมหรือออกแบบการเรียนรู้อาจทำได้หลายวิธีการและหลายเทคนิค แต่มีข้อควรคำนึงว่า ในการจัดการเรียนรู้แต่ละครั้ง แต่ละเรื่อง ได้เปิดโอกาสให้กับผู้เรียนในเรื่องต่อไปนี้หรือไม่
1) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเป็นผู้เลือกหรือตัดสินใจในเนื้อหาสาระที่สนใจเป็น
ประโยชน์ต่อตัวผู้เรียนหรือไม่
2) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ โดยได้คิดได้รวบรวม
ความรู้และลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองหรือไม่ ซึ่ง ทิศนา แขมมณี (2547) ได้นำเสนอแนวคิดในการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและสามารถนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติได้ ดังนี้
2.1) กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีที่ควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางด้านร่างกาย (Physical Participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อช่วยให้ประสาทการเรียนรู้ของผู้เรียนตื่นตัว พร้อมที่จะรับข้อมูลและการเรียนรู้ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นการรับรู้เป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ ถ้าผู้เรียนอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อม แม้จะมีการให้ความรู้ที่ดีๆ ผู้เรียนก็ไม่สามารถรับได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าปล่อยให้ผู้เรียนนั่งนานๆ ในไม่ช้าผู้เรียนก็จะหลับหรือคิดเรื่องอื่น ๆ แต่ถ้าให้มีการเคลื่อนไหวทางกายบ้างก็จะทำให้ประสาทการเรียนรู้ของผู้เรียนตื่นตัวและพร้อมที่จะรับและเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ดี ดังนั้นกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียน จึงควรเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเป็นระยะๆ ตามความเหมาะสมกับวัยและระดับความสนใจของผู้เรียน
2.2) กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางสติปัญญา(Intellectual Participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเคลื่อนไหวทางสติปัญญาต้องเป็นกิจกรรมที่ท้าทายความคิดของผู้เรียน สามารถกระตุ้นสมองของผู้เรียนให้เกิดการเคลื่อนไหวต้องเป็นเรื่องที่ไม่ยากหรือง่ายเกินไปทาให้ผู้เรียนเกิดความสนุกที่จะคิด
2.3) กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดี ควรช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสังคม (Social Participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว เนื่องจากมนุษย์จำเป็นต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะมนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับอื่น และสภาพแวดล้อมต่างๆ การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทางด้านสังคม
2.4) กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางอารมณ์(Emotional Participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้เรียน ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้นั้น เกิดความหมายต่อตนเองโดยกิจกรรมดังกล่าวควรเกี่ยวข้องกับผู้เรียนโดยตรง โดยปกติการมีส่วนร่วมทางอารมณ์นี้มักเกิดขึ้นพร้อมกับการกระทำอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น กิจกรรมทางกาย สติปัญญาและสังคม ทุกครั้งที่ผู้สอนให้ผู้เรียนเคลื่อนที่ เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนกิจกรรม ผู้เรียนจะเกิดอารมณ์ความรู้สึกอาจเป็นความพอใจ ไม่พอใจ หรือเฉย ๆ การออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญสามารถใช้ได้กับการจัดการเรียนการสอนทุกวิชาเพียงแต่ธรรมชาติของเนื้อหาวิชาที่ต่างกันจะมีลักษณะที่เอื้ออานวยให้ผู้สอนออกแบบกิจกรรมที่ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ในจุดเด่นที่ต่างกัน คือ
(1) รายวิชาที่มีเนื้อหามุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้กฎเกณฑ์และการนาเอากฎเกณฑ์ไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ หรือการใช้ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ผู้สอนสามารถใช้กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเองโดยใช้วิธีสอนแบบอุปนัย และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำกฎเกณฑ์ที่ทำความเข้าใจได้ไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยใช้วิธีการสอนแบบนิรนัย การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นก็จะเป็นการเรียนรู้ที่ยั่งยืนเพราะผู้เรียนได้สร้างความรู้ด้วยตัวเอง
(2) รายวิชาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นพบความรู้จากการค้นคว้าทดลองและการอภิปรายโดยใช้หลักเหตุผล เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ผู้เรียนมีโอกาสที่จะได้สร้างความรู้เองโดยตรง เพียงแต่ผู้สอนต้องรู้จักการใช้คำถามที่ยั่วยุและเชื่อมโยงความคิด ประกอบกับการได้มีโอกาสทำการทดลองเป็นการปฏิบัติร่วมกัน ผู้เรียนจะได้มีปฏิสัมพันธ์กัน มีการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อสร้างความรู้ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ทากันมาอยู่แล้ว
(3) รายวิชาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลที่หลาก หลายเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของคนในสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลข้อมูลที่มีลักษณะยั่วยุให้ออกความคิดเห็นได้ เช่น วิชาสังคมศึกษา และวรรณคดีเป็นลักษณะพิเศษที่ผู้สอนจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดกิจกรรมการใช้ความคิดอภิปราย นำไปสู่ข้อสรุป เป็นผลของการเรียนรู้และการสร้างนิสัยยอมรับฟังความคิดเห็นกัน เป็นวิถีทางที่ดีในการปลูกฝังประชาธิปไตยให้กับผู้เรียน
(4) รายวิชาที่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นหลักเช่น วิชาพลศึกษาและการงานอาชีพ ผู้สอนควรใช้โอกาสดังกล่าว ให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้ผ่านกระบวนการทำงาน
(5) รายวิชาที่ส่งเสริมความคิดจินตนาการ และการสร้างสุนทรียภาพ เช่นวิชาศิลปะและดนตรี นอกจากจะมีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกายแล้ว ผู้เรียนยังมีโอกาสได้สร้างความรู้ และความรู้สึกที่ดี ผ่านกระบวนทำงานที่ผู้สอนออกแบบไว้ให้ผู้สอนที่ประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมักเป็นผู้สอนที่มีความตั้งใจและสนุกในการทำงานสอน เป็นคนช่างสังเกตและเอาใจใส่ผู้เรียนและมักจะได้ผลการตอบสนองที่ดีจากผู้เรียน แม้จะยังไม่มากในจุดเริ่มต้น แต่เมื่อปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอก็จะสังเกตได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนในทางที่ดีขึ้น



          มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (http://active-learning.wu.ac.th/th/detail/10016) ได้รวบรวมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ไว้ดังนี้ ความหมายของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner-centered Approach) หมายถึงกระบวนการจัดการศึกษาที่ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด เน้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ และพัฒนาความรู้ได้ด้วยตนเอง รวมทั้งมีการฝึกและปฏิบัติในสภาพจริงของการทำงาน เชื่อมโยง ประยุกต์สิ่งที่เรียนรู้เข้ากับสังคม มีการจัดกิจกรรมและกระบวนการให้ผู้เรียนได้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ โดยสะท้อนจากการที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรายวิชา หรือเลือกทำโครงงานหรือชิ้นงานตามความสนใจในขอบเขตเนื้อหาของวิชานั้นๆ ซึ่งสอดคล้องกับนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่าน ได้ให้ความหมายของ การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คือการที่ผู้เรียนเป็นผู้รับผิดชอบในการเรียนรู้ของตนเอง ตั้งแต่การวางแผนจัดระบบระเบียบ ลงมือปฏิบัติ และประเมินผลการเรียนรู้ของตนเอง เป็นการเรียนรู้เชิงรุก ผู้เรียนหาความรู้ได้จากเอกสาร เพื่อน แหล่งความรู้ อาจารย์ และสิ่งแวดล้อม โดยมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน มีกระบวนการคิดและการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล มีหลักวิชาการรองรับ สร้างองค์ความรู้และประมวลความรู้ โดยผู้สอนเป็นผู้แนะนำชี้แนะ ให้แหล่งข้อมูลร่วมกัน กำหนดการเรียนการประเมินผลประเด็นการศึกษา
แต่เดิมแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนเป็นการยึดผู้สอนเป็นศูนย์กลาง (Techer-centered)โดยผู้สอนเป็นผู้กำหนดเนื้อหาและวิธีการเรียนการสอนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงการบรรยายหน้าชั้นเรียนเท่านั้น ต่อมานักการศึกษาเชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ได้เอื้อต่อเกิดการพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง เพราะไม่ใช่วิธีการที่ตอบสนองต่อความต้องการหรือลักษณะของผู้เรียน การศึกษาควรให้ความสำคัญกับ “การเรียน” มากกว่า “การสอน”

          http://www.agri.kmitl.ac.th/km/knowledge/?p=126 ได้รวบรวมไว้ว่า แนวคิดของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner-centered, Student-centred หรือ Child-centered) จึงเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่เปลี่ยนมายึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยมีหลักการว่า กระบวนการจัดการเรียนการสอนต้องเน้นให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ และพัฒนาความรู้ได้ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพของตนเอง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการฝึกและปฏิบัติในสภาพจริงของการทำงาน มีการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับสังคมและการประยุกต์ใช้ มีการจัดกิจกรรมและกระบวนการให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ โดยไม่เน้นไปที่การท่องจำเพียงเนื้อหา
สรุปลักษณะของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
(ดัดแปลงจาก อาภรณ์ ใจเที่ยง เข้าถึงได้จาก http://www.sut.ac.th/tedu/news/Teaching.htm)
Active Learning เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเป็นผู้กระทำหรือปฏิบัติด้วยตนเองด้วยความกระตือรือร้น เช่น ได้คิด ค้นคว้า ทดลองรายงาน ทำโครงการ สัมภาษณ์ แก้ปัญหา ฯลฯ ได้ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง ผู้สอนทำหน้าที่เตรียมการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ จัดสื่อสิ่งเร้าเสริมแรงให้คำปรึกษาและสรุปสาระการเรียนรู้ร่วมกัน
Construct เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้ค้นพบสาระสำคัญหรือองค์การความรู้ใหม่ด้วยตนเอง อันเกิดจากการได้ศึกษาค้นคว้าทดลอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน รวมทั้งทำให้ผู้เรียนรักการอ่าน รักการศึกษาค้นคว้าเกิดทักษะในการแสวงหาความรู้ เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ (Learning Man) ที่พึงประสงค์
Resource เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่หลากหลายทั้งบุคคลและเครื่องมือทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ผู้เรียนได้สัมผัสและสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นมนุษย์ (เช่น ชุมชน ครอบครัว องค์กรต่างๆ) ธรรมชาติและเทคโนโลยี ตามหลักการที่ว่า “การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานการณ์)”
Thinking เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการคิด ผู้เรียนได้ฝึกวิธีคิดในหลายลักษณะ เช่น คิดคล่อง คิดหลากหลาย คิดละเอียด คิดชัดเจน คิดถูก ทางคิดกว้าง คิดลึกซึ้ง คิดไกล คิดอย่างมีเหตุผล เป็นต้น การฝึกให้ผู้เรียนได้คิดอยู่เสมอในลักษณะต่างๆ จะทำให้ผู้เรียนเป็นคนคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น คิดอย่างรอบคอบมีเหตุผล มีวิจารณญาณ ในการคิด มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่จะเลือกรับและปฏิเสธข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถแสดงความคิดเห็นออกได้อย่างชัดเจนและมี เหตุผลอันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
Happiness เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจาก 1) ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่ตนชอบหรือสนใจ ทำให้เกิดแรงจูงใจในการใฝ่รู้ ท้าทาย อยากค้นคว้า อยากแสดงความสามารถและให้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ 2) การมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนและระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน มีลักษณะเป็นกัลยาณมิตร มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีกิจกรรมร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้ผู้เรียนรู้สึกมีความสุขและสนุกกับการเรียน
Participation เป็นกิจกรรมที่เน้นการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม ตั้งแต่การวางแผนกำหนดงาน วางเป้าหมายร่วมกัน และมีโอกาสเลือกทำงานหรือศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่ตรงกับความถนัดความสามารถ ความสนใจ ของตนเอง ทำให้ผู้เรียนเรียนด้วยความกระตือรือร้น มองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียนและสามารถ ประยุกต์ความรู้นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง
Individualization เป็นกิจกรรมที่ผู้สอนให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนในความเป็นเอกัตบุคคล ผู้สอนต้องยอมรับในความสามารถ ความคิดเห็น ความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน มุ่งให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพมากกว่าเปรียบเทียบแข่งขันระหว่างกันโดยมีความเชื่อมั่นผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ และมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
Good Habit เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้พัฒนาคุณลักษณะนิสัยที่ดีงาม เช่น ความรับผิดชอบ ความเมตตา กรุณา ความมีน้ำใจ ความขยัน ความมีระเบียบวินัย ความเสียสละ ฯลฯ และ ลักษณะนิสัยในการทำงานอย่างเป็นกระบวนการการทำงานร่วมกับผู้อื่น การยอมรับผู้อื่น และ การเห็นคุณค่าของงาน เป็นต้น
Self Evaluation เป็นกิจกรรมที่เน้นการประเมินตนเอง เดิมผู้สอนเป็นผู้ประเมินฝ่ายเดียว แต่การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนประเมินตนเองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจตนเองได้ชัดเจนขึ้น รุ้จุดเด่นจุดด้อยและพร้อมที่จะปรับปรุงหรือพัฒนาตนเองให้เหมาะสมยิ่งขึ้น การประเมินในส่วนนี้เป็นการประเมินตามสภาพจริงและอาจใช้แฟ้มสะสมผลงานช่วย
               จากที่กล่าวมาข้างต้นพอสรุปการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ว่า การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือแนวการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ใหม่และสิ่งประดิษฐ์ใหม่โดยการใช้กระบวนการทางปัญญา(กระบวนการคิด) กระบวนการทางสังคม (กระบวนการกลุ่ม) และให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์และมีส่วนร่วมในการเรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ โดยผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้อานวยความสะดวกจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียน กระบวนการจัดการศึกษาที่ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด เน้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ และพัฒนาความรู้ได้ด้วยตนเอง รวมทั้งมีการฝึกและปฏิบัติในสภาพจริงของการทำงาน เชื่อมโยง ประยุกต์สิ่งที่เรียนรู้เข้ากับสังคม มีการจัดกิจกรรมและกระบวนการให้ผู้เรียนได้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ

ที่มา

 http://eduweb.kpru.ac.th/wbi/documents/pdf/Child_Center.pdf.การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็น             สำคัญ.เข้าถึงเมื่อ 17 กันยายน 2558.

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. [Online]. (http://active-learning.wu.ac.th/th/detail/10016). แนวคิดในการกำหนดคำนิยามของการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) .มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.
           เข้าถึงเมื่อ 17กันยายน 2558.

http://www.agri.kmitl.ac.th/km/knowledge/?p=126. การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.
           เข้าถึงเมื่อ 17 กันยายน 2558.





วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

การเรียนรู้แบบเรียนรวม

        http://www.oknation.net/blog/pannida/2012/11/12/entry-10 ได้รวบรวมการเรียนรู้แบบเรียนรวมไว้ว่า
การจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม - Presentation Transcript
การเรียนร่วม การเรียนร่วมหมายถึงการจัดให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กพิการเข้าไปในระบบการศึกษาทั่วไป มีการร่วมกิจกรรมและใช้ช่วงเวลาช่วงใดช่วงหนึ่งในแต่ละวันระหว่างเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กพิการกับเด็กทั่วไป
การจัดการเรียนร่วม เป็นการจัดการศึกษาให้เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ มีโอกาสเข้าไปในระบบการศึกษาปกติ โดยเปิดโอกาสให้เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ได้เรียนและทำกิจกรรมร่วมกับเด็กทั่วไป โดยมีครูทั่วไปและครูการศึกษาพิเศษร่วมมือและ รับผิดชอบร่วมกัน (Collaboration) และการจัดการเรียนร่วม อาจกระทำได้หลายลักษณะ วิธีการจัดการเรียนร่วม ซึ่งปฏิบัติกันอยู่ในหลายประเทศและประสบความสำเร็จ ซึ่งมีรูปแบบการจัดเรียนร่วมได้ 6 รูปแบบ ดังนี้

1. ชั้นเรียนปกติเต็มวัน รูปแบบการจัดเรียนร่วม
2. ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการปรึกษา
3. ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการครู
4. ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการสอนเสริม
5. ชั้นพิเศษและชั้นเรียนเรียนปกติเด็กจะเรียนในชั้นเรียนพิเศษ
6. ชั้นเรียนพิเศษใน โรงเรียนปกติ
ชั้นเรียนปกติเต็มวัน
เด็กจะเรียนในชั้นเรียนเต็มวัน และอยู่ในความรับผิดชอบของครูประจำชั้นโดยไม่ได้รับบริการทางการศึกษาพิเศษ
เด็กที่จะเข้าเรียนในลักษณะนี้ได้ควรเป็นเด็กที่มีความพิการน้อย มีความฉลาดและมีความพร้อมในการเรียนตลอดจน วุฒิภาวะทางอารมณ์และสังคม

ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการปรึกษา
ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการปรึกษา หรือ เด็กจะเรียนในชั้นเรียนปกติ เต็มเวลา และอยู่ในความดูแลของครูประจำชั้นครูประจำวิชา ซึ่งจะได้รับคำแนะนำจากครูการศึกษ า พิเศษนักจิตวิทยา เช่นแนะนำชี้แจงให้ครูที่สอนชั้นเรียนร่วมเข้าใจความต้องการ และความสามารถของเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ช่วยกำหนด
3. ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการครูเดินสอน
เด็กจะเรียนในชั้นเรียนปกติเต็มเวลาและอยู่ในความรับผิดชอบของครูประจำชั้นแต่จะได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากครูเดินสอนตามตารางที่กำหนดหรือเมื่อมีความจำเป็น ครูเดินสอนจะเดินทางไปให้บริการตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมถึงการให้บริการช่วยเหลือแก่ครูทั้งด้านการสอนและหรือการปรับพฤติกรรม
4. ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการสอนเสริม
เด็กจะเรียนในชั้นเรียนปกติเต็มวันและอยู่ในความรับผิดชอบของครูประจำชั้น แต่ได้รับการสอนเสริมจากครูการศึกษาพิเศษที่ประจำอยู่ห้องสอนเสริมบางเวลาหรือบางวิชาวันละ 1-2 ชั่วโมง หรื อ มากกว่านี้ขึ้นอยู่กับความต้องการพิเศษของเด็ก การสอนเด็กอาจกระทำเป็นรายบุคคลหรือสอนเป็นกลุ่มเล็กๆ ก็ได้ และสอนในเนื้อหาที่เด็กไม่ได้รับการสอนในชั้นปกติ หรือเนื้อหาที่เด็กมีปัญหา
5. ชั้นเรียนพิเศษและชั้นเรียนปกติ เด็กจะเรียนในชั้นเรียนพิเศษ คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้
ภาษาไทย
คณิตศาสตร์
วิทยาศาสตร์
ศาสนาและวัฒนธรรม
ภาษาต่างประเทศ
เข้าเรียนร่วม ในชั้นเรียนปกติในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
สุขศึกษา และ พลศึกษา
ศิลปะ เป็นต้น
6. ชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนปกติเป็นการจัดเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษที่มี ความบกพร่องประเภทเดียวกันไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน และเป็นกลุ่มขนาดเล็กปกติเด็กจะเรียน ในชั้นเรียนพิเศษเต็มเวลาและเรียนกับครูประจำชั้นทุกวิชา แต่จะเข้าร่วมกิจกรรมกับเด็กทั่วไปเช่นกิจกรรมเข้าแถวเคารพธงชาติ การรับประทานอาหาร การไปทัศนะศึกษา ซึ่งการจัด การเรียนร่วมในลักษณะนี้เหมาะสำหรับเด็กที่มีความพิการค่อนข้างมาก
ความแตกต่างของการศึกษาแบบเรียนรวม กับการเรียนร่วม
การศึกษาแบบเรียนร่วมหมายถึง การนำนักเรียนพิการ หรือมีความพกพร่อง เข้าไปในระบบการศึกษาปกติ มีการร่วมกิจกรรม และใช้เวลาว่างช่วงใดช่วงหนึ่งในแต่ละวัน ระหว่างนักเรียนพิการหรือที่มีความพกพร่องกับนักเรียนทั่วไป
การศึกษาแบบเรียนรวม หมายถึง การศึกษาสำหรับคนทุกคน โดยรับเข้ามาเรียนรวมกัน ตั้งแต่เริ่มรับการศึกษาและจัดบริการพิเศษตามความต้องการจำเป็นของแต่ละบุคคล

           http://61.19.246.216/~nkedu2/?name=webboard&file=read&id=177 ได้ ได้รวบรวมการเรียนรู้แบบเรียนรวมไว้ว่า
การศึกษาแบบเรียนรวม หมายถึง การจัดการเรียนการสอนที่ยึดปรัชญาของการอยู่รวมกัน (Inclusion) เป็นหลัก นั่น คือ การสอนที่ดี เป็นการสอนที่ครูกับนักเรียนช่วยกันให้ทุกคนเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน โดยการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ให้กับชุมชนและโรงเรียน การอยู่รวมกันจึงมีความหมายรวมไปถึงกิจกรรมทุกชนิดที่จะนำไปสู่การสอนที่ดี (Good Teaching) ซึ่งเป็นการคิดอย่างรอบคอบเพื่อหาหนทางให้นักเรียนทุกคนสามารถเรียนได้เป็นการกำหนดทางเลือกหลายๆ ทาง (Wilson , Kliewer, East, 2007) จากความหมายดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า การเรียนรวม เป็นแนวคิดทางการศึกษาอย่างหนึ่งที่โรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดเป็นเด็กปกติ หรือเด็กคนใดเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กทุกคนที่ผู้ปกครองพาเข้ามาโรงเรียนทางโรงเรียนจะต้องรับเด็กไว้ และจะต้องจัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม และดำเนินการเรียนในลักษณะ “รวมกัน” ที่ทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่ง ของสังคม ทุกคนยอมรับซึ่งกันและกัน ทุกคนยอมรับว่ามี ผู้พิการ อยู่ในสังคมและเขาเหล่านั้นต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะต้องใช้ชีวิตร่วมกันกับคนปกติ โดยไม่มีการแบ่งแยก การเรียนรวมยังแบ่งออกเป็นการเรียนเต็มเวลา และการเรียนรวมบางเวลา การเรียนรวมเต็มเวลา (Full Inclusion) หมายถึง การให้เข้าเรียนในชั้นเรียนรวมตลอดทั้งวันเช่นเดียวกับการมาโรงเรียนตามปกติของนักเรียนทั้งหลาย การเรียนรวมบางเวลา (Partial Inclusion) หมายถึง การให้เด็กเข้าเรียนในชั้นเรียนรวมในบางชั่วโมงของ 1 วัน หรือ บางชั่วโมงของเวลาเรียนใน 1 สัปดาห์ เป็นการเข้าเรียนไม่เต็มเวลาของ
การเรียนปกติ
รูปแบบการเรียนรวม

ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนรวมกับเด็กปกติต้องอาศัยรูปแบบการเรียนรวมที่เหมาะสมกับผู้เรียนในชั้นเรียนรวม ซึ่งรูปแบบการเรียนรวมมีหลายรูปแบบ โดยที่ ด๊าค (Daeck, 2007) ได้เสนอรูปแบบการเรียนรวมเต็มเวลาไว้ 3 รูปแบบใหญ่ 5 รูปแบบเล็ก ดังนี้
1. รูปแบบครูที่ปรึกษา (Consultant Model) ในรูปแบบนี้ครูการศึกษาพิเศษจะได้รับมอบหมายให้สอนทักษะแก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เนื่องจากครูที่สอนชั้นเรียนรวมสอนเด็กแล้ว แต่ทักษะยังไม่เกิดกับเด็กคนนั้นครูการศึกษาพิเศษต้องสอนทักษะเดิมซ้ำอีก จนกระทั่งเด็กเกิดทักษะนั้น สำหรับรูปแบบนี้ครูการศึกษาพิเศษจะรับผิดชอบเด็กจำนวนหนึ่ง เป็นจำนวนจำกัด ครูปกติและครูการศึกษาพิเศษต้องมีการพบปะเพื่อประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับทักษะของเด็ก และมีการวางแผนร่วมกัน รูปแบบนี้เหมาะกับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนเด็กที่มีความต้องการพิเศษไม่มากนัก ซึ่งผู้เรียบเรียงได้ไปศึกษาดูงานที่ Westbrook Walnut Grove : High School ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการจัดรูปแบบการเรียนรวม แบบครูที่ปรึกษา
2. รูปแบบการร่วมทีม ( Teaming Model) ในรูปแบบนี้ครูการศึกษาพิเศษจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการร่วมทีมกับครูที่สอนชั้นปกติ เช่น ในสาย ป.2 ( ครูที่สอนชั้นป.2 / 1 และ ป.2 / 2) ครูการศึกษาพิเศษมีหน้าที่ให้ข้อมูลแก่ครูปกติเกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษในชั้นเรียนรวม ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับวิธีสอนการมอบหมายงานหรือการบ้าน การปรับวิธีสอบ การจัดการด้านพฤติกรรม มีการวางแผนร่วมกันสม่ำเสมอ เช่น สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง ครูที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานวางแผนร่วมกันเป็นทีมในการให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
3. รูปแบบการร่วมมือ หรือ การร่วมสอน (Collaborative / Co Teaching Model) ในรูปแบบนี้ทั้งครูการศึกษาพิเศษและครูปกติร่วมมือกันในหลายลักษณะในการสอนเด็กทุกคน ทั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กปกติในห้องเรียนปกติ ร่วมมือกันรับผิดชอบในการวางแผน การสอน การวัดผลประเมินผล การดูแลเกี่ยวกับระเบียบวินัยและพฤติกรรมของเด็กผู้เรียนจะได้รับบริการด้านการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับวัย ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนที่จำเป็น ตลอดจนการปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน ในรูปแบบนี้ครูผู้รับผิดชอบจะต้องประชุมกันเพื่อวางแผน เพื่อให้การเรียนรวมดำเนินไปด้วยดีอาจจำแนกออกเป็นรูปแบบย่อย ๆ ได้ 5 รูปแบบ คือ
3.1 คนหนึ่งสอนคนหนึ่งช่วย (One Teacher-One Supporter) เป็นการสอนที่ครู 2 คน ร่วมกันสอนชั้นเดียวกันในเวลาเดียวกัน เนื้อหาเดียวกัน ครูคนที่เชี่ยวชาญในเนื้อหากว่าเป็นผู้สอน ส่วนครูอีกคนหนึ่งที่เชี่ยวชาญในเนื้อหานั้น ๆ น้อยกว่าเป็นผู้คอยให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักเรียนอาจถามครูคนใดคนหนึ่งก็ได้ เมื่อนักเรียนมีคำถาม เพราะมีครู 2 คน อยู่ในห้องเรียนในเวลาเดียวกัน
3.2 การสอนพร้อม ๆ กัน (Parallel Teaching) เป็นการแบ่งเด็กในหนึ่งห้องเรียนออกเป็นกลุ่มไปพร้อม ๆ กัน หลังจากบรรยายเสร็จ ครูอาจมอบงานให้นักเรียนทำไปพร้อม ๆ กัน และให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มไปพร้อม ๆ กัน การสอนแบบนี้เหมาะสำหรับห้องเรียนที่มีจำนวนนักเรียนไม่มากนัก ครูจะได้มีโอกาสดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง ครูสามารถตอบคำถามนักเรียนได้แทบทุกคน และครูอาจอธิบายซ้ำหรือสอนซ้ำได้ สำหรับเด็กบางคนที่ไม่เข้าใจเนื้อหาบางตอน
3.3 ศูนย์การสอน (Station Teaching) บางครั้งอาจเรียกศูนย์การเรียน (Learning Centers) ในรูปแบบนี้ครูจะแบ่งเนื้อหาวิชาออกเป็นตอน ๆ แต่ละตอนจะจัดวางเนื้อหาได้ตามแหล่งต่าง ๆ
( Stations) ภายในห้องเรียน ให้นักเรียนตามเวลาที่กำหนด และหมุนเวียนกันจนครบทุกศูนย์จึงจะได้เนื้อหาวิชาครบถ้วนตามที่ครูกำหนด ข้อดีของรูปแบบนี้คือครูอาจใช้เวลาในขณะที่เด็กอื่นกำลังเรียนรู้ด้วยตนเองสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษเป็นรายบุคคล ทำให้เด็กเข้าในสิ่งที่เรียนมากขึ้น
3.4 การสอนทางเลือก (Alternative Teaching Design) ในการสอนแบบนี้จะต้องมีครูอย่างน้อย 2 คน ใน 1 ห้องเรียน ครูคนแรกจะสอนเนื้อหาวิชาแก่เด็กทั้งชั้น หลังจากนั้นจึงแบ่งกลุ่มเพื่อทำกิจกรรม ครูคนหนึ่งจะสอนกลุ่มเด็กที่เก่งกว่าเพื่อให้ได้เนื้อหาและกิจกรรมเชิงลึกในขณะที่ถูกอีกคนหนึ่งสอนกลุ่มเด็กที่อ่อนกว่า เพื่อให้เด็กได้เลือกทำกิจกรรมตามที่ตนมีความสามารถข้อดีของการสอบแบบนี้คือ เด็กที่เก่งได้เลือกเรียนในสิ่งที่ยาก ขณะที่เด็กที่อ่อนได้เลือกเรียนตามศักยภาพของตน ครูมีโอกาสสอนซ้ำในทักษะเดิมสำหรับเด็กที่ยังไม่เก่งในทักษะนั้น ๆ เหมาะสำหรับชั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์ หรือวิชาอื่นว่ามีเนื้อหายากง่ายตามลำดับของเนื้อหาวิชา
3.5 การสอนเป็นทีม (Team Teaching) เป็นรูปแบบที่ครูมากกว่า 1 คน รวมกันสอนห้องเรียนเดียวกันในเนื้อหาเดียวกัน เป็นการสอนทั้งห้องเรียนแต่ไม่จำเป็นต้องสอนในเวลาเดียวกันหากมีครูสอนมากกว่า 1 คน ในเวลาเดียวกัน ครูอาจเดินไปรอบ ๆ ห้องและช่วยกันสอนนักเรียนเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่มีปัญหาในการเรียนเนื้อหาวิชา

             https://www.gotoknow.org/posts/548117 ได้รวบรวมการเรียนรู้แบบเรียนรวมไว้ว่า

การศึกษาแบบเรียนรวม
การศึกษาแบบเรียนรวม หมายถึง การรับเด็กเข้ารับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกความบกพร่องของเด็ก หรือคัดแยกเด็กที่ด้อยว่าเด็กส่วนใหญ่ออกจากชั้นเรียน แต่จะใช้การบริหารจัดการและวิธีการในการให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการตามความต้องการ จำเป็นอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล
ลักษณะของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
ความแตกต่างจากรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษและเด็กปกติคือ จะต้องถือหลักการดังนี้
• เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
• เด็กทุกคนเข้าเรียนในโรงเรียนพร้อมกัน
• โรงเรียนจะต้องปรับสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ทุกด้านเพื่อให้สามารถสอนเด็กได้ทุกคน
• โรงเรียนจะต้องให้บริการ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือต่าง ๆ ทางการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความต้องการจำเป็นนอกเหนือจากเด็กปกติทุกคน
• โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้หลายรูปแบบในโรงเรียนปกติทั่วไปโดยจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด
             จากที่กล่าวมาข้างต้นพอสรุปได้ว่า การเรียนรู้แบบเรียนรวม เป็นการรับเด็กเข้ารับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกความบกพร่องของเด็ก หรือคัดแยกเด็กที่ด้อยว่าเด็กส่วนใหญ่ออกจากชั้นเรียน แต่จะใช้การบริหารจัดการและวิธีการในการให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการตามความต้องการ จำเป็นอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล บ้างครั้งอาจรับเด็กพิการเข้ามาร่วมด้วย  รูปแบบการเรียนรวมเต็มเวลาไว้ 3 รูปแบบใหญ่ 5 รูปแบบเล็ก รูปแบบครูที่ปรึกษา รูปแบบการร่วมทีม  รูปแบบการร่วมมือ ในรูปแบบการร่วมมือก็จะประกอบไปด้วย  คนหนึ่งสอนคนหนึ่งช่วย การสอนพร้อมๆ กัน ศูนย์การสอน การสอนทางเลือก การสอนเป็นทีม

ที่มา

http://www.oknation.net/blog/pannida/2012/11/12/entry-10.การศึกษาปฐมวัย.เข้าถึงเมื่อ 16 กันยายน              พ.ศ. 2558.
 http://61.19.246.216/~nkedu2/?name=webboard&file=read&id=177.การศึกษาแบบเรียนรวม.เข้าถึง              เมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2558.
 https://www.gotoknow.org/posts/548117.การบูรณาการเรียนรู้แบบเรียนรวม.เข้าถึงเมื่อ 16 กันยายน                  พ.ศ. 2558,

องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้

          http://pichaikum.blogspot.com/2008/11/blog-post.html ได้รวบรวมองค์ประกอบการจัดการเรียนรู้ไว้ว่า
องค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้
1. ผู้สอน เป็นผู้ที่มีความสำคัญในการที่จะแปลมาตรฐานการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ที่เป็น
ตัวหนังสือให้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม น่าสนใจ และมีกระบวนการเรียนรู้หลากหลายวิธีอย่างอิสระ จะต้องรู้จักเลือกปรับปรุงเทคนิคและวิธีการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและผู้เรียนโดยไม่ใช้วิธีการเดียว ควรมีการดัดแปลงและเลือกใช้วิธีการให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และเนื้อหาในแต่ละเรื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้
2. ผู้เรียน เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งบุคลิกภาพ สติปัญญา ความถนัด ความสนใจและความสมบูรณ์ของร่างกาย ผู้เรียนควรมีโอกาสร่วมคิด ร่วมวางแผนในการจัดการเรียนการสอน และมีโอกาสเลือกวิธีเรียนได้อย่างหลากหลาย ตามความเหมาะสมภายใต้การแนะนำของผู้สอน
3. เนื้อหาวิชาต่างๆ ซึ่งผู้สอนจะต้องจัดเนื้อหาวิชาให้มีความสัมพันธ์กัน มีความน่าสนใจ เหมาะสมกับวัย ระดับชั้น รวมทั้งสภาพสิ่งแวดล้อมของการจัดการเรียนรู้
4. สื่อ/แหล่งการเรียนรู้ ได้แก่ อุปกรณ์ช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
5. สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้ ผู้สอนต้องมีวิธีการที่จะจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางวิชาการ เช่น จัดห้องชวนคิด ห้องกิจกรรมวิทยาศาสตร์ จัดระบบนิเวศจำลอง จัดบริเวณโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ทางชีววิทยา ธรณีวิทยา ฯลฯ มีการดัดแปลงห้องเรียนให้นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ดี และจัดกิจกรรมที่เอื้อให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วย

          http://kmlibrary.bu.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=29:2011-02-24-03-06-59&catid=13:2010-12-22-04-02-34 ได้รวบรวมองค์ประกอบการจัดการเรียนรู้ไว้ว่า

ในการจัดการความรู้โดยทั่วไปมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนคือ คน (man) เทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology-IT) และกระบวนการจัดการความรู้ (process)

1. คน (man)
ในการจัดการความรู้ คนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เนื่องจากคนเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ส่วนบุคคล (personal knowledge management-PKM) คือ ผู้ซึ่งต้องการจัดการความรู้เพื่อการใช้ประโยชน์กับตัวเอง จึงสามารถจัดการทุกอย่างทุกขึ้นตอนได้เองเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีบ้างที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น
บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดการความรู้หรือ KM Team ขององค์กรอาจแบ่งได้เป็น 2 ทีมคือ ทีมหลักหรือทีมถาวร (core team or permanent team) และทีมชั่วคราว (contemporary team)

ทีมหลักหรือทีมถาวรเป็นคณะทำงานที่รับผิดชอบการดำเนินการจัดการความรู้ขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยบุคลากร 3 ฝ่าย ได้แก่ หัวหน้างาน หรือผู้จัดการความรู้ (knowledge champion or senior manager or chief knowledge management-CKO) เป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ซึ่งมีบทบาทในการขุดหา (leverage) ความรู้ภายในองค์กรออกมาโดยการใช้โครงการการจัดการความรู้ รับผิดชอบในการสร้างวิสัยทัศน์ในสิ่งที่เป็นไปได้ ออกแบบกรอบงานที่ให้ผลคุ้มค่า และ เป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ประสานงานและการจัดให้มีกิจกรรมการจัดการความรู้ทั้งหมดขององค์กร บุคลากรประเภทที่สอง ได้แก่ หัวหน้างาน (Chief Information Officer- CIO) เป็นผู้รับผิดชอบงานทั้งหมดขององค์กร และ ฝ่ายสุดท้ายของทีมหลักคือ ตัวแทนจากกลุ่มงานหลักขององค์กร
ส่วนทีมชั่วคราว เป็นคณะกรรมการที่มาจากกลุ่มเฉพาะ (Tiwanna, 2002, p.206) องค์กรต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า บุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ขององค์กร คือ กลุ่มผู้ใช้ผลผลิตและบริการขององค์กร จึงควรให้บุคคลเหล่านั้นมาเป็นหุ้นส่วนและร่วมกันวางแผนงานให้กับองค์กร (Rumizen, 2002, p.67)
นอกจากทีมงานทั้งสองทีมแล้ว บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการจัดการความรู้ขององค์กรอย่างมากคือ ผู้บริหารสูงสุด (Chief Executive Officer-CEO) โดยปกติจะอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาโครงการจัดการความรู้
2. เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology-IT)
ในเรื่องของการจัดการความรู้นั้นมีงานวิจัยเป็นจำนวนมากที่พยายามอธิบายความสัมพันธ์และบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศกับการจัดการความรู้ ดังที่ปรากฎว่าเป็นเรื่องราวจำนวนมากที่แสดงถึงการจัดการความรู้ขององค์กรผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ แม้ว่ากระบวนการจัดการความรู้เป็นกระบวนการที่ไม่ใช้เทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีก็เป็นที่ถูกคาดหมายว่าเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้การจัดการความรู้ประสพความสำเร็จ องค์กรส่วนใหญ่จึงมีการจัดสรรงบประมาณในการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม มาเป็นเครื่องมือช่วยในการจัดการความรู้ขององค์กร (สมชาย นำประเสริฐกุล, 2546, p.105)
เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องและมีบทบาทในการจัดการความรู้ประกอบด้วยเทคโนโลยีในการสื่อสาร (Communication Technology), เทคโนโลยีการทำงานร่วมกัน (Collaboration Technology) และเทคโนโลยีในการจัดเก็บ (Storage Technology)

- เทคโนโลยีในการสื่อสาร ช่วยให้บุคลากรสามารถเข้าถึงความรู้ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวมทั้งสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้เชียวชาญสาขาต่าง ๆ ในการค้นหาข้อมูล สารสนเทศผ่านเครือข่ายได้ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต อินทราเน็ต หรือโซเชียลมีเดีย (Social Media

- เทคโนโลยีสนับสนุนการทำงานร่วมกัน ช่วยให้สามารถประสานการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคเรื่องของระยะทาง ตัวอย่างเช่นโปรแกรมกลุ่ม groupware หรือระบบ video conference เป็นต้น

- เทคโนโลยีช่วยในการจัดเก็บ ช่วยในการจัดเก็บและจัดการความรู้ต่าง ๆ

เทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนช่วยประสาน สนับสนุนและอำนวยความสะดวกกระบวนการจัดการความรู้ ทั้ง 3 ดังนี้

- การแสวงหาความรู้ เป็นการแสวงหาความรู้ทั้งที่เป็นการหยั่งรู้เอง (Tacit Knowledge) ทักษะ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ผู้มีประสบการณ์สูง จะมองเห็นแนวโน้มหรือหรือทิศทางความต้องการใช้ความรู้ด้านต่าง ๆ แล้ววางแผนและดำเนินการที่จะจัดหาความรู้นั้น ๆ มา โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทต่าง ๆ เป็นเครื่องช่วยประสานและอำนวยความสะดวก

- การแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ เป็นการเผยแพร่และกระจายความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ในการนี้ การเรียนรู้จากผู้เชียวชาญจะช่วยให้ผู้ดำเนินการจัดการความรู้มือใหม่ผ่านเครือข่ายการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ

- การใช้ประโยชน์จากความรู้ การเรียนรู้จะบูรณาการอยู่ในองค์กร มีอะไรอยู่ในองค์กร สมาชิกองค์กรสามารถรับรู้และประยุกต์ใช้สถานการณ์ใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา ทั้งการแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ และการใช้ประโยชน์ความรู้ จะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน

ทั้งการแสวงหาความรู้

อย่างไรก็ตาม ในความหมายของ IT ไมได้หมายถึงเพียงแค่อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์หรือซอฟท์แวร์เพียง เท่านั้น แต่ในปัจจุบันได้หมายรวมถึงความสำคัญของคน เป้าหมายที่คนวางหรือกำหนดในการใช้เทคโนโลยีนั้น ๆ คุณค่าในการเลือกใช้เทคโนโลยีตลอดจนเกณฑ์ในการประเมินที่ใช้ในการตัดสินใจในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในงานต่าง ๆ (Chartrand & Morentz อ้างถึง Zorkoczy, 1984, p.12)

3. กระบวนการจัดการความรู้ (Process)
กระบวนการจัดการความรู้ เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้เกิดพัฒนาของความรู้ หรือการจัดการ ความรู้ที่จะเกิดขึ้นภายในองค์กร มีทั้งหมด 7 ขั้นตอน

- การบ่งชี้ความรู้ (Knowledge Identification) เป็นการพิจารณาว่าองค์กรเรามีพันธกิจ วิสัยทัศน์ เป้าหมายอะไร และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เราต้องใช้อะไร ขณะนี้เรามีความรู้อะไรบ้าง อยู่ในรูปแบบใด และอยู่ที่ใคร

- การสร้างและการแสวงหาความรู้ (Knowledge Creation & Acquisition) เช่นการสร้างความรู้ใหม่ แสวงหาความรู้จากภายนอก รักษาความรู้เก่า กำจัดความรู้ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว

- การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ (Knowledge Organization) เป็นการวางโครงสร้างความรู้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเก็บความรู้อย่างเป็นระบบในอนาคต

- การประมวลและกลั่นกรองความรู้ (Knowledge Codification & Refinement) เช่นการปรับปรุงเอกสารให้เป็นรูปแบบมาตรฐาน ใช้ภาษาในการสื่อสารเป็นภาษาเดียวกัน ประปรุงเนื้อหาความรู้ให้สมบูรณ์

- การเข้าถึงความรู้ (Knowledge Dissemination & Access) เป็นการทำให้ผู้ใช้เข้าถึงความรู้อย่างเป็นระบบได้ง่ายและสะดวกขึ้น การกระจายความรู้ให้ผู้อื่นทางช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสม

- การแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing) เป็นการนำความรู้ที่ได้มาแลกเปลี่ยนกันด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ เช่น ในกรณีเป็น Explicit Knowledge อาจทำเป็นเอกสาร ฐานความรู้ คลังความรู้ หรือในกรณีเป็น Tacit Knowledge อาจทำเป็นระบบทีมข้ามสายงาน กิจกรรมกลุ่ม ชุมชนแห่งการเรียนรู้ และระบบพี่เลี้ยง การสับเปลี่ยนงาน การยืมตัว เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นต้น

- การเรียนรู้และการนำไปใช้งาน (Learning & Utilization) เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการการจัดการความรู้ เป็นการที่บุคคลเกิดการเรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ควรทำให้การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของงาน และหมุนเวียนไปอย่างต่อเนื่อง
             
               http://region4.prd.go.th/ewt_news.php?nid=1736&filename=km_web ได้รวบรวมองค์ประกอบการจัดการเรียนรู้ไว้ว่า

องค์ประกอบที่สำคัญของการจัดการความรู้ คือ คน เทคโนโลยี และกระบวนการความรู้ (Knowledge Process)
"คน” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นแหล่งความรู้ และเป็นผู้นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์
"เทคโนโลยี” เป็นเครื่องมือที่ช่วยค้นหา จัดเก็บ แลกเปลี่ยน และนำความรู้ไปใช้ได้ง่ายและ รวดเร็วขึ้น
"กระบวนการความรู้ (Knowledge Process)” เป็นการบริหารจัดการ เพื่อนำความรู้จากแหล่งความรู้ไปให้ผู้ใช้ เพื่อให้เกิดการปรับปรุง และนวัตกรรม โดยองค์ประกอบทั้ง ๓ ส่วนนี้ต้องเชื่อมโยงและบูรณาการเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม

การที่องค์กรได้นำวิธีการจัดการความรู้มาใช้ในการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กรแล้ว จะเห็นได้ว่าเกิดประโยชน์มากมาย ทั้งเป็นการเพิ่มคุณภาพและศักยภาพขององค์กร โดยมีการนำความรู้ที่มี อยู่เดิม (ความรู้เก่า) นำมาบูรณาการเป็นความรู้ใหม่ก็จะก่อให้เกิดเป็นความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นอีก และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น จนกลายเป็นวงจรแห่งการเรียนรู้ที่เพิ่มพูนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

          จากที่กล่าวมาข้างต้นพอสรุปได้ว่าองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้ ประกอบไปด้วย ผู้สอน ผู้เรียน เนื้อหาวิชาต่างๆ สื่อ/แหล่งเรียนรู้ สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้ กระบวนการจัดการความรู้ (Process) เทคโนโลยี

ที่มา

 http://pichaikum.blogspot.com/2008/11/blog-post.html.องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้.
              เข้าถึงเมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2558.
 http://kmlibrary.bu.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=29:2011-02-24-03-06-59&catid=13:2010-12-22-04-02-34.องค์ประกอบในการจัดการความรู้.เข้าถึงเมื่อ 16 กันยายน 
              พ.ศ. 2558.
http://region4.prd.go.th/ewt_news.php?nid=1736&filename=km_web.องค์ประกอบในการจัดการเรียนรู้
              เข้าถึงเมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2558.